HOME  
BIOGRAPHY  
MUSIC COMPOSITION  
ARTICLE  
GALLERY  
CONTACT  
LINK  
 
 
 
 




คอนเสิร์ต CU – String Orchestra ครั้งที่ 5
ศ. 29 ก.ค. นี้ 19.30 น. ที่จุฬาฯ
     วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมถ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดการแสดงดนตรีวงเครื่องสายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5 ขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2554 เวลา 19.30 น. ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
วงเครื่องสายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     วงเครื่องสายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University String Orchestra/ CU – String Orchestra) เป็นวงดนตรีที่ผลิดอกออกใบมาจากวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอก ชูชาติ พิทักษากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปี 2553 และศิลปินแห่งจุฬาฯ เป็นผู้อำนวยการดนตรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็น ผู้อำนวยเพลง โดยเป็นวงที่รวบรวมนักดนตรีเยาวชนในกลุ่มเครื่องสาย อันประกอบด้วย ไวโอลิน วิโอลา เชลโลและดับเบิลเบส จำนวนประมาณ 40 คนที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสามารถทางด้านการบรรเลงดนตรีรวมวงในรูปแบบของวงเครื่องสาย (String Orchestra) โดยมีการจัดทดสอบเพื่อคัดเลือกนักดนตรีเพื่อเข้าร่วมวง ปีละ 1 ครั้ง เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการอบรมทางด้านการบรรเลงรวมวงและเทคนิคการปฏิบัติเครื่องดนตรีเฉพาะ จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบ หลังการอบรม เยาวชนจะได้แสดงดนตรีร่วมกับนักดนตรีมืออาชีพ โดยบทเพลงที่จะบรรเลงจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำ
ผู้อำนวยเพลงวงเครื่องสายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำ ผู้อำนวยเพลงวง CU – String Orchestra กล่าวถึงบทเพลงที่ นักดนตรีเยาวชนจะได้ร่วมแสดงในปีนี้ว่า "สำหรับคอนเสิร์ตครั้งที่ 5 ของวง CU – String Orchestra ในวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ เนื้อหาของบทเพลงที่จะบรรเลงมีความยากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักดนตรีเกิดความท้าทายและตั้งใจพัฒนาฝีมือของตน เราจะเริ่มกันด้วยบทเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก 'Eine kleine Nacht Musik' (Complete) โดย Wolfgang Amadeus Mozart ต่อด้วย 'Namada (นัมมทา) Concerto for Piano and String Orchestra' ซึ่งเป็น บทเพลงใหม่ ประพันธ์ดนตรีโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศิลปินศิลปาธร นักประพันธ์เพลงร่วมสมัย เดี่ยวเปียโนโดย อาจารย์ ดร. รามสูร สีตลายัน อาจารย์ประจำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากพักครึ่งการแสดงแล้ว จะกลับมาพบกันในบทเพลง 'Le Grand Tango for Cello and String Orchestra' โดย Astor Piazzola เดี่ยวเชลโลโดย สมรรถยา วาทะวัฒนะ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และปิดท้ายด้วย 'St. Paul's Suite, Op.29, No. 2' ประพันธ์ดนตรีโดย Gustav Holst ครับ อยากให้มาชมการแสดงกันครับ"
รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินศิลปาธร นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยของไทย
     สำหรับบทประพันธ์ดนตรี 'Namada (นัมมทา) Concerto for Piano and String Orchestra' ซึ่งจะนำออกแสดงครั้งแรก (World Premier) ในงานนี้นั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินศิลปาธร นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยของไทย ได้เล่าถึงเพลงนี้ว่า "บทเพลงนี้ ผมตั้งใจแต่งขึ้นเป็นพิเศษสำหรับให้วงเครื่องสาย CU – String Orchestra บรรเลงโดยเฉพาะ โดยใช้เทคนิคการประพันธ์เพลงร่วมสมัยครับ บทเพลงนี้บรรยายเรื่องราวของแม่น้ำ 'นัมมทา' ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา มีอยู่ 3 กระบวนด้วยกัน (ช้า-เร็ว-ช้า) กล่าวคือ กระบวนที่ 1 พรรณนาถึงเทือกเขา 'วินธยะ' ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำนัมมทา กระบวนที่ 2 เป็นเรื่องของ 'โลกบาดาล' และ 'พญานาค' และกระบวนที่ 3 เกี่ยวกับ 'การประทับรอยพระพุทธบาทครั้งแรก' ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา บทเพลงนี้แสดงออกถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาของผู้ประพันธ์ครับ อยากให้มาฟังกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักประพันธ์เพลงร่วมสมัย นักดนตรีเครื่องสาย และนักเปียโนครับ"
อาจารย์ ดร. รามสูร สีตลายัน ผู้แสดงเดี่ยวเปียโนเพลง "Namada (นัมมทา) Concerto for Piano and String
     อาจารย์ ดร. รามสูร สีตลายัน ผู้แสดงเดี่ยวเปียโน กล่าวถึงการร่วมแสดงกับวงเครื่องสายแห่งจุฬาฯ ในครั้งนี้ว่า "เป็นการแสดงร่วมกับวง CU – String Orchestra ครั้งแรกครับ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผมแล้ว เพลงนี้เป็นเพลงที่ท้าทายมากครับ มีเทคนิคสำหรับเปียโนที่น่าสนใจอยู่มาก อยากให้มาชมคอนเสิร์ตกันให้ได้ครับ"
สมรรถยา วาทะวัฒนะ ผู้แสดงเดี่ยวเชลโลเพลง "Le Grand Tango for Cello and String Orchestra"
     ทางด้านนักเชลโลสาวดาวรุ่ง "สมรรถยา
วาทะวัฒนะ"
ลูกศิษย์ของ อาจารย์กิตติคุณ สดประเสริฐ นักเชลโลมืออาชีพแนวหน้าของไทย เล่าถึงการแสดงเดี่ยวเชลโลร่วมกับวง CU - String Orchestra ในครั้งนี้ว่า "เป็นสมาชิกของวงนี้อยู่แล้วค่ะ เคยร่วมแสดงคอนเสิร์ต CU – String Orchestra มาแล้วค่ะ แต่ครั้งนี้ ถือว่าพิเศษมาก เพราะว่าได้แสดงเดี่ยวร่วมกับวงด้วย จะเตรียมตัวให้ดีที่สุดค่ะ สำหรับเพลง 'Le Grand Tango for Cello and String Orchestra' โดย Astor Piazzola นี้ มีความน่าสนใจ ทั้งทางด้านทำนองเพลงและจังหวะ เป็นเพลงที่ท้าทายมากๆ เนื่องจากว่า ถ้าไม่สามารถทำความเข้าใจในบทเพลงให้ได้อย่างดีแล้ว ก็ไม่อาจดึงความน่าสนใจของบทเพลงออกมาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องอารมณ์ของผู้แสดง บทเพลงนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ว่า มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์เพลงอย่างต่อเนื่อง จากดุดัน เป็นอ่อนหวาน แต่ทุกอารมณ์ก็ยังจำเป็นต้องคงความสง่างามตามสไตล์เพลงแทงโกไว้อยู่ค่ะ อยากเชิญชวนให้มาให้กำลังใจนักดนตรีกันเยอะๆ ค่ะ"
     สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งได้ที่ วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทรศัพท์ 0 2218 3635