HOME  
BIOGRAPHY  
MUSIC COMPOSITION  
ARTICLE  
GALLERY  
CONTACT  
LINK  
 
 
 
 

 

 ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร 

ศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2505 ที่กรุงเทพฯ จบปริญญาเอก ด้านการประพันธ์เพลงจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา มีผลงานการประพันธ์เพลงอย่างสม่ำเสมอมาเป็นระยะเวลาร่วม 40 ปี ทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยที่โดดเด่นของไทย มีความสามารถในการประยุกต์และผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ผลงานการประพันธ์เพลง ได้รับการบรรเลงโดยวงออร์เคสตราชั้นนำในระดับนานาชาติทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย เช่น Brass Ensemble of the Royal Concertgebouw Orchestra, The Civic Orchestra of Chicago, The Japan Shinsei Symphony Orchestra, Hiroshima Symphony Orchestra, Melbourne Symphony Orchestra, Verdehr Trio (USA), IRCAM Ensemble (Paris), Ensemble Stella Nova (Tokyo), Ensemble Kochi, New York New Music Ensemble, WIRO Ensemble (South Korea) เป็นต้น ตลอดจนถูกนำมาแสดงในงานดนตรีร่วมสมัยนานาชาติที่สำคัญหลายงาน อาทิเช่น Asia Pacific International Music Festival, Contemporary Music Project, Sendai Asian Music Festival, Asian Contemporary Music, Asian Traditional/Asian Modern, และ Musicarama 

ในประเทศไทย ผลงานหลายบทได้รับการบรรเลงโดยวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตรา วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย และวงดุริยางค์กรมศิลปากรหลายครั้ง ผลงานสำคัญได้แก่ คอนแชร์โตมหาราชา สำหรับระนาดเอกและวงดุริยางค์, ซิมโฟนีแห่งสกลจักรวาล (ซิมโฟนีหมายเลข 1), ซินโฟเนียสุวรรณภูมิ (ซิมโฟนีหมายเลข 2), คอนแชร์โตสำหรับออร์เคสตรา (Concerto for Orchestra), ภวังค์สำหรับระนาดเอกและวงออร์เคสตรา, คอนแชร์โตสังคีตมงคลสำหรับไวโอลินและวงออร์เคสตรา, ซินโฟเนียจักรี, ดับเบิลคอนแชร์โตสำหรับระนาดเอกและระนาดทุ้ม, ซิมโฟนีแห่ง พ.ศ. 2489 (ซิมโฟนีหมายเลข 3), โหมโรงจตุภูมิ, ถวายปฏิญญา, ปิยสยามินทร์ (ซิมโฟนีหมายเลข 4), นัมมทา สำหรับเปียโนและวงออร์เคสตรา, เปียโนคอนแชร์โตแห่งกรุงสยาม ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติให้เป็นศิลปินต้นแบบด้านดุริยางคศิลป์ในปี พ.ศ. 2555, ซิมโฟนีประสานเสียงสำเนียงระฆัง ซิมโฟนีหมายเลข 5 (The Harmony of Chimes) ที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเครื่องดนตรีอาเซียนและวงออร์เคสตรา, “Le pas de mon Pere” Symphonic poem for Orchestra and Chorus, เปียโนควินเท็ต “จิตวิญญาณแห่งอาเซียน” (Quintet for the Spirits of ASEAN), โหมโรงภัทรมหาราชา (Bhattara Maharaja Overture), ซิมโฟนีภูมิพลอดุลยเดชมหาราชา ซิมโฟนีหมายเลข 6 (Bhumibol Adulyadej Maharaja for Orchestra and Chorus), ซินโฟเนียสยามินทร์ (Sinfonia Siamindra), ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซิมโฟนีหมายเลข 7 (Symphony of Rattanakosin), ซิมโฟนิกโพเอ็ม “มหาอาณาจักร” (The Empires), ซิมโฟนีบดินทร ซิมโฟนีหมายเลข 8 (The Bodindra Symphony), และซิมโฟนิกโพเอ็ม “รุ่งอรุณฤดูใบไม้ผลิ” 

นอกจากศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร จะมีผลงานด้านการประพันธ์เพลงแล้ว ยังสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ด้านการประพันธ์เพลง เช่น การผลิตตำรา “การประพันธ์เพลงร่วมสมัย” และหนังสือ “อรรถาธิบายและบทวิเคราะห์บทเพลงที่ประพันธ์ โดยณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร” 

รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรทางด้านการประพันธ์เพลงและการสร้างงานวิจัยทางดนตรีจากสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกประเทศและร่วมนำเสนอผลงานบทประพันธ์เพลง ตลอดจนเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดบทประพันธ์เพลงทั้งระดับชาติและนานาชาติ 

ศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น “ศิลปินศิลปาธร” (ศิลปินร่วมสมัยดีเด่น) สาขาดนตรี ประจำปี พ.ศ. 2551 จากกระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 สาขาการประพันธ์เพลง ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา (www.narongrit.com)