HOME  
BIOGRAPHY  
MUSIC COMPOSITION  
ARTICLE  
GALLERY  
CONTACT  
LINK  
 
 
 
 

ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ถ้าไม่มีหัวใจ ดนตรีเป็นได้แค่โน้ต
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2551 


           
 เขาเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกในเมืองไทยที่กำลังมีผลงานโดดเด่น จากการประพันธ์เพลง “ถวายปฏิญญา” เพื่อบรรเลงในงานพระราชพิธีพระราชเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
            ก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งได้รับ รางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปีนี้ ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สคร.) กระทรวงวัฒนธรรม มอบให้แก่ศิลปินร่วมสมัยสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 30-50 ปี ผู้มีผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
            แม้จะมีงานประจำในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์(ตะวันตก)คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ รศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร สร้างสรรค์ผลงานเพลงหลายประเภท ผลงานหลักๆ ประกอบด้วย ซิมโฟนี 3 ชิ้น, ระนาด คอนแชร์โต 2 ชิ้น, ไวโอลิน คอนแชร์โต 1 ชิ้น ยังไม่นับรวมงานระดับออร์เคสตรา เวิร์คและเชมเบอร์ มิวสิค อีกนับไม่ถ้วน
            นี่คือบทสนทนาถึงมุมมองบางด้านของเขา และความเป็นไปของวงการนักประพันธ์เพลงคลาสสิกไทยในยุคนี้


            การเป็นนักประพันธ์เพลงตะวันตกแต่ในเวลาเดียวกัน มีสนใจและเข้าใจความเป็นไทยด้วย แนวทางนี้เริ่มต้นมาได้อย่างไร

            ตอนผมอายุ 10 ขวบ (ราวปี 2515) ผมจำได้เหตุการณ์หนึ่งซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ สมัยก่อน ทีวีจะเป็นรายการสด แล้วก็มีรายการดนตรีคลาสสิกที่ผมต้องติมตามทุกบ่ายวันอาทิตย์ ชื่อ “ดนตรีวิจารณ์” ของ อ.ชูชาติ พิทักษากร ทาง ททบ. สนามเป้า
            มีอยู่วันหนึ่ง อาจารย์ชูชาติไปช้าพอไปถึงวงยังไม่ได้ซ้อม ท่านก็บอกวันนี้เราจะจัดรายการพิเศษ คือซ้อมให้ดูเสียเลย เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นวงซ้อมมันเหมือนพาเราเข้าครัว นี่คือเบื้องหลังของการสร้างดนตรี คือธรรมดา เมื่อเราเปิดแผ่นฟัง มันเสร็จแล้ว
            พอได้เห็นแบบนี้ ผมตั้งใจเลยว่าชาตินี้ ขอเป็น classical composer ผมไม่ทำอย่างอื่นแล้ว ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักท่านเป็นส่วนตัว แต่ท่านก็กลายมาเป็นอาจารย์ผมท่านแรก เพราะท่านได้สร้างแรงบันดาลใจ หลังจากนั้นมาผมมีโอกาสได้เรียนกับท่านที่จุฬาฯ
            อีกประการหนึ่ง คือผมได้ไปเรียนเปียโนกับ อ.ปิยะพันธ์ (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) วิธีการสอนของท่านไม่เหมือนคนอื่นว่าต้องทำนิ้วอย่างนั้นอย่างนี้แต่ท่านให้มุมมองเกี่ยวกับเพลงตลอดเวลา มีประโยคหนึ่งที่ท่านพูด “เปียโนหลังเดียว ให้คนมาเล่นสิบคนเสียงออกมาคนละอย่าง” ตอนแรกผมก็คิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร แต่จริงๆโน้ตเดียวเล่นออกมาคนละอย่างแต่เมื่อเติบโตขึ้นผมพบว่า colour หรือสีสันเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเพลง

            เรื่องความรู้ด้านดนตรีตะวันตกกับความเป็นไทย ?

            ความเป็นไทยนั้น บางทีเราไม่ได้สร้างให้เป็น มันเป็นเอง เรากินอาหารไทย เที่ยวเมืองไทย คบคนไทย พูดภาษาไทย ของแบบนี้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างบางเพลงของผม จะมีเสียงของวัด ผมชอบใช้ bell ใช้ระฆัง เพราะเวลาไปวัด เสียงที่เราได้ยินก่อนคือการที่มีคนไปรัวระฆังใบใหญ่ใบเล็ก ผมชอบเสียงแบบนี้ ทุกเพลงจะมี bell แบบต่างๆ แล้วก็จะให้เขาเล่นคนละ tempo ให้มันเหลื่อมๆกัน คล้ายๆ กับเสียงระฆังที่เราได้ยินจริงๆ
            ผมคิดว่าเราเขียนดนตรีตะวันตกส่วนหนึ่งมันฟังเป็นตะวันตก เราเลือกจะใช้ภาษาแบบตะวันตก แต่เราเขียนดนตรีแบบไทย คือตัวผมไม่ใช่นักดนตรีไทย ไม่ได้เล่นดนตรีไทยจริงจังถึงเราจะชอบฟัง แต่เราเลือกใช้ภาษาสากล และเราสื่อสารความเป็นไทยของเราออกไป
            ท้ายที่สุด ดนตรีก็คือตัวเรา ยังไงก็ต้องออกจากตัวเรา บางทีมีคนมาถามว่า แต่งเพลงต้องทำอะไรก่อน ผมชอบบอกว่า คอมโพสเซอร์มีหน้าที่เดียว คือ ทำหน้าที่หาเสียงที่เราคิดว่ามันเข้าท่าแต่ละคนก็จะมีเหตุผลของตัวเอง
            โดยพื้นฐานน่าจะแบ่งเป็น 2 อย่างคือสมองกับหัวใจ สมองคือสิ่งที่เราเรียนมา คอร์ดเป็นอย่างนี้ สเกลเป็นอย่างนี้ ส่วนหัวใจคือทำอย่างไรเราจะเลือกสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราจะพูด ซึ่งอย่างแรกมันสอนกันได้ คอร์ดคิดแบบนี้นะ สเกลคิดอย่างนี้เสียงฟลุ้ทเป็นอย่างนี้ ส่วนจะเลือกแบบไหน คือตัวใครตัวมัน จริงๆ พวกนิสิตมาถามว่า “แต่งเพลงอย่างไรดีครับ” ผมตอบ “ลองถามหัวใจคุณสิ” ถ้าคุณไม่มีหัวใจจบ สิ่งที่เลือกไป ถ้าไม่มีหัวใจก็คงเป็นได้แค่โน้ต

            ในฐานะเป็นผู้สร้างบุคลากรทางด้านนี้ คุณมองวิชาชีพของนักประพันธ์เพลงคลาสสิกในเมืองไทยอย่างไร

            ผมคิดว่า เราเรียนอะไรก็ตามสมมติเราจบอินทีเรียร์ ผู้ใหญ่ก็บอกว่า “หาบริษัทใหญ่ๆ ทำสิ จะได้มั่นคง” เด็กๆ บอก “ผมอยากเป็นฟรีแลนซ์” ผมว่าก็เหมือนกัน สมมติได้ไปทำงานปูนซิเมนต์ไทย มั่นคง ที่เหลือคุณอยากจะทำอะไรก็ทำ
           ในด้านการแต่งเพลง เป็นฟรีแลนซ์อยู่ได้มั้ย หลายคนอยู่ได้ แต่บางคนอาจจะบอกว่าน่ามองหาสถาบันสังกัด ให้เป็น security ของชีวิต แล้วค่อยหาอะไรทำ ผมว่าขึ้นอยู่กับมุมมองดูอย่างคอมโพสเซอร์ใหญ่ๆ อย่าง(แอรอน) คอปแลนด์ ก็ยังหางานประจำทำ ขณะที่ ทัน ดุน อาจจะเก่งในเรื่องการเสนอโปรเจ็คท์ใหม่ๆ ของเขา
            ทีนี้ ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องขยันหางาน คือไม่มีอะไรในโลกที่เขาเอามาถวายเรา เราก็ต้องวิ่งหางาน ต้องวิ่งหาวาระ ต้องวิ่งหาสปอนเซอร์ วิ่งหาผู้ใหญ่ที่จะบอกว่า “งานนี้ผมเอาด้วย”
           ผมเคยบอกเด็กๆ ว่า งานคอมโพสเซอร์ จริงๆ แล้ว เป็นงานเขียนโน้ตแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ทีเหลือคือไปหว่านล้อมให้คนสนับสนุนเรา ทำอย่างไรไปให้ ปตท.สนับสนุน “ดิน น้ำ ลม ไฟ” ผมอยากให้คอมโพสเซอร์มองในจุดนี้ด้วยทำอย่างไร เชลล์ หรือ บีเอสโอ หรือ บีกริมม์ จะสนับสนุน ผมคิดว่านี่คืองานที่เราต้องวิ่งหาทั้งนั้น

            ในอีกด้านหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้คอมโพสเซอร์วิ่งหางาน สังคมควรให้คุณค่าแก่การสร้างงานแค่ไหนตัวอย่างของละครทีวีเห็นได้ชัดว่ามีข้อด้อยของเพลงประกอบ คนเหล่านี้น่าจะเข้าไปทำงานเพื่อให้ผลงานโดยรวมดีขึ้น ประตูตรงนี้เมื่อไหร่จะเปิด

           
 ถ้าเทียบกับเมืองนอก เขาทำกันเยอะนะครับ เพราะเขาคิดว่าดนตรีเป็นส่วนสำคัญ ในเมืองไทย เขาอาจไม่ค่อยเห็นว่าดนตรีสำคัญ เขาอาจจะคิดว่าไปซื้อซาวด์การ์ดจากเมืองนอกมาเปิด มันก็ถูกสตางค์ดี จ้างวง จ้างคอมโพสเซอร์ มันก็เป็นค่าใช้จ่าย ตรงนี้ก็น่าเสียดายที่ทำให้งานของเราน้อยลง
           แต่ขณะนี้ ก็มีหลายเจ้าที่ทำ และเห็นความสำคัญของดนตรีมากขึ้น มีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะเทียบเคียงกับประเทศอื่นไม่ค่อยได้
            มีอยู่นิดนึงที่ผมเห็นว่ามันแปลกตรงที่โปรดิวเซอร์ยอมจ่ายค่าทำฉากเป็นล้านๆ แต่พอมาถึงมิวสิคโปรดักชั่น “เอ๊ะ ! ทำไมแพงนักล่ะ” (หัวเราะ) “เอ๊ะ! ทำไม โอ้โห ไม่เอาล่ะ แพงไป” แต่อย่างอื่นยอมจ่ายนะ ตรงนี้ผมก็อยากให้มองกลับ อย่างพี่ชายผมเป็นสถาปนิกออกแบบบ้านสวย พอเสนอค่าแบบ “เฮ้ย ! แพงจัง” แต่เขายอมจ่ายค่าโถส้วม 2 แสน (หัวเราะ) คล้ายๆ เขาไม่ยอมจ่ายค่าความคิด เพราะมันจับต้องไม่ได้ เพราะเขาเห็นว่าไม่มีต้นทุนแต่ส้วมมีต้นทุน

            ทั้งที่ความคิดทำให้สังคมวิวัฒน์ไป เป็นจุดเริ่มต้นของรูปธรรมที่จับต้องได้ ?

           
 ใช่ครับ คือ เราเข้าใจได้ว่า “ของจับต้องได้” ก็ต้องใช้สมองในการทำ แต่เรื่องของความคิด มันก็เป็นวิชาชีพบางที เขาไม่ค่อยยอมจ่าย ผมว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผู้ฟังด้วย อย่างละครเขาก็ดูว่าดาราคนไหนเล่น ส่วนของเพลงก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่

            ในฐานะคนประพันธ์เพลง เคยแอบสังเกตสีหน้าผู้ฟังผลงานของเราบ้างมั้ย คุณเห็นอะไรมั้ย คุณเห็นอะไรบ้าง

          
 เท่าที่ทราบก็คงไม่มีใครเกลียดนะแต่ดนตรีมีความหลากหลาย เราจะทำเพลงให้ทุกคนชอบ คงเป็นไปไม่ได้ บางครั้งผมจะชอบไปคุยกับคนฟังที่ไม่รู้เรื่องเลย เพราะบางทีเราจะได้ comment ที่น่าสนใจ แล้วผมก็คิดว่าการไปฟังคอนเสิร์ต ไม่ได้ยุ่งอะไรมาก แค่ไปฟังเพราะอยากฟัง แค่ชอบกับแค่ไม่ชอบ แต่อย่างน้อยที่สุด ผมซื่อสัตย์กับตัวเอง ทำงานที่เราคิดว่าหัวใจเราดีเราเขียนขึ้นมา ใช้ความประณีต อยู่กับมันนานๆ
           การซื่อสัตย์หมายถึงงานเขียนจากตัวเราจริงๆมิใช่ว่าไปดูว่าของคนอื่นเป็นอย่างไร แล้วก็อปปี อย่างนั้นถือว่าดูถูกทั้งคนฟัง ทั้งนักดนตรีที่มาเล่นให้รวมถึงดูถูกตัวเราด้วย
           โดยความเป็นจริง ดนตรีไม่ใช่ของเรา 100 เปอร์เซ็นต์ มันยักย้ายถ่ายเทแต่ต้องมี “ทาง” ที่ทำให้กลายเป็นของเราให้ได้ ผมไม่ปฏิเสธอิทธิพลของคอมโพสเซอร์ท่านอื่น แต่บางที “ลูก” ที่เราได้มาจะเปลี่ยนไป มันแปรรูปไปเยอะ เช่น ฟังนกสองตัวร้องเพลง ตัวหนึ่งมันจะเลียนแบบตัวหนึ่ง มันจะสบตากัน ตัวหนึ่งร้อง 4 โน้ตหายไปตัว เราก็เห็นว่ามันเป็น imitation ที่น่าสนใจ เป็นการอาศัยแรงบันดาลใจจากรอบตัวเรา

            ในด้านการประพันธ์ คอมโพสเซอร์ต้องหนีสิ่งที่เรียกว่าลักษณะซ้ำซาก หรือ cliche มั้ย

           
 ผมไม่ได้หนีมันนะ อย่างงานใหม่ของผม มีคอร์ดดอมิแนนท์ไปโทนิค ก็ปล่อยให้มันเป็นไป เป็นเมเจอร์สเกลตรงๆ ก็มีไป ถ้าเราอยากให้มันมีลักษณะนี้ คือผมไม่อยากจะหนีในเมื่อมันมีอยู่ในโลกมนุษย์หากอยากใช้ก็เอามาใช้ ผมว่าการเขียนเพลงที่พยายามจะหนี cliche มันก็คือ cliche v อีกแบบหนึ่ง เหมือนพวกเด็กแนว เขาพยายามแต่งตัวให้แหวกแนว เพราะมันเป็นแนวของเขา แต่มันก็เป็นอีกแนวหนึ่งอยู่ดี

            คิดว่าความสำเร็จของคอมโพสเซอร์อยู่ตรงไหน 

           
 อยู่ตรงที่ผลงานของเรามีอิทธิพลกับคอมโพสเซอร์คนอื่น ทำไม “เบโธเฟน” จึงเป็นเบโธเฟนที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่างานของเขาพอแต่งแล้วมันไม่ได้จบตรงนั้น แต่มันมี impact กับชาวบ้านจำนวนมาก หรืออย่าง “สตราวินสกี” เขียนงานออกมา ขนาดมีคนออกมาเที่ยวด่าว่าเฮงซวย แต่สุดท้ายก็มาขอดูสกอร์ว่าทำอะไรไปบ้าง สุดท้ายงานเหล่านี้มีอิทธิพลต่อคอมโพสเซอร์รุ่นหลัง
            ผมอยากให้งานของผมเป็นอย่างนั้น อยากให้งานของเรามีอิทธิพลต่อนักประพันธ์เพลงรุ่นหลัง หากเป็นเช่นนั้นได้ ก็ถือว่าเราไม่เสียชาติเกิด